วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานที่เลี้ยงที่เหมาะสม

การดูแลลูกเต่าบกซูลคาต้า เต่าชนิดนี้โดยธรรมชาติจะชอบอากาศร้อนและแห้ง ดังนั้นสถานที่จะให้เขาอยู่นั้น ควรเลือกบริเวณที่แห้งและอุ่นเข้าใว้ อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ไม่ควรย้ายไปย้ายมา ตั้งตรงไหนก็ตั้งตรงนั้น ถ้ามีแดดส่องถึงบางเวลาได้ยิ่งดี  ในหน้าหนาว หรือวันที่มีอากาศเย็นเต่าจะเรียนรู้และออกมาตากแดดเอง แต่ควรมีที่หลบแดดให้ ตำแหน่งและวัสดุที่จะทำที่หลบควรพิจารณาอย่างดี เช่น ไม่ควรนำกระถางแตกแล้วนำมาวางกลางแจ้งเพื่อทำที่หลบ เพราะภายในจะร้อนเหมือนเตาอบในเวลาที่มีแสงแดดจัดและส่องเต็ม ๆ 
สถานที่เลี้ยงเปียกน้ำได้ฝนตกสาดใส่ได้ แต่ต้องระบายน้ำได้เร็วไม่ควรชื้นแฉะอยู่แบบนั้นเป็นเวลาหลาย ๆ วัน ส่วนกลางคืนจะมีแสงหรือไม่มีก็ได้ แต่หากมืดสนิทก็จะใกล้เคียงธรรมชาติ ความกว้างยาวของคอกก็แล้วแต่สะดวก แต่สำหรับลูกเต่าที่ยังเล็กอยู่ไม่ควรกว้างจนเกินไปนัก ความสูงของคอกควรสูงอย่างน้อยเป็นสองเท่าของความยาวลำตัวเต่า  เพื่อป้องกันเต่าปีนหนีออกจากที่เลี้ยง
หากไม่มีบริเวณ สามารถเลี้ยงในตะกร้าหรือกระบะในขณะที่เต่ายังเล็กได้ พยายามเลือกตำแหน่งวางตะกร้าหรือกะบะเลี้ยงในที่มีแสงสว่างส่องถึง อาจไม่ถึงกับต้องโดนแดดแบบเต็ม ๆ ก็ได้ แต่ขอให้ได้ไอแดดบ้าง จะทำให้เต่าแข็งแรงและอยากอาหารมากขึ้น เพราะเต่าต้องใช้รังสียูวีในการดึงแคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไปมาสร้างกระดอง หากเต่าได้ยูวีน้อยเกินไปจะทำให้กระดองบางและไม่เป็นผลดีกับตัวเต่าเอง
การเลี้ยงในตะกร้า ก็มีข้อควรระวังหลายอย่าง เพราะต้องนำลูกเต่าออกไปตากแดด บางทีเราลืมเก็บ ลูกเต่าโดนแดดแรงเกินหรือตากแดดนานเกินไป อาจสุกตายได้ภายในหนึ่งชั่วโมงก็มี ขอสังเกตคือ ถ้าลูกเต่าน้ำตาไหลหรือมีน้ำเปียกบริเวณหน้าตา ให้รีบเก็บเข้าที่ร่มทันที เพราะนั้นคือสัญญานว่าลูกเต่าร้อนเกินไปแล้ว
สำหรับการเลี้ยงเต่าซูลคาต้าแบบ indoor (ภายในที่ปิดไม่ได้ปล่อยกลางแจ้ง) ดูจะเหมาะสมกับเต่าซูคาต้าในขนาดเล็กมากกว่าการเลี้ยงกลางแจ้ง เพราะการเลี้ยงแบบ indoor เราสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆทั้งอาหาร ความชื้นความร้อนได้ง่ายกว่า และในเต่าขนาดเล็กเมื่อเลี้ยงแบบ outdoor นั้นอาจจะทำให้เต่าสามารถติดเชื้อโรค ปรสิต โปรโตซัว ที่จะก่อให้เกิดโรคที่มีอยู่มากมายในดิน การเลี้ยงเต่าจนกว่าจะมีอายุ 1-2 ปี หรือมีขนาด 12 นิ้วขึ้นไป ในสถานที่เลี้ยง indoor จึงเป็นวิธีป้องกันและลดอัตราการตายในเต่าขนาดเล็กได้ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น