วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

 

เพศของเต่าซูลคาต้า

เราจะไม่สามารถแยกเพศของเต่าซูลคาต้าที่มีขนาดเล็กได้เลย จากรูปร่างลักษณะภายนอก แต่ในเต่าที่มีขนาด 12-14 นิ้วขึ้นไป ก็สามารถที่จะแยกเพศได้โดยไม่ยากนัก วิธีการง่าย ๆ คือ ยกเต่าดูที่ใต้ท้องเต่าตัวผู้แผ่นปิดท้องจะมีลักษณะเว้าลึกเข้าไปในช่องท้อง (​B เว้ามากกว่า A) เพื่อประโยชน์ในการขึ้นขี่ผสมพันธุ์กับเต่าเพศเมีย ส่วนนี้ของเต่าเพศเมียจะแบนราบปกติ ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งของเต่าเพศผู้และเพศเมียคือ เต่าตัวผู้จะมีหางที่ยาวกว่า (D ยาวกว่า C) เต่าเพศเมียนั่นเอง

การผสมพันธุ์และเพาะพันธุ์เต่าซูลคาต้า

เต่าซูลคาต้านั้น จะเริ่มถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อเขามีอายุได้ 4 ปี และมีขนาดประมาณ 14 นิ้วขึ้นไป เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ช่วงประมาณปลายฝนต้นหนาว พ่อพันธุ์เต่าซูลคาต้าจะเริ่มส่งเสียงคำรามต่ำ ๆ ออกมา ช่วงนี้เต่าเพศเมียมักจะนอนนิ่ง ๆ ที่ใดที่หนึ่ง ส่วนเต่าตัวผู้นั้นจะแสดงอาการคึกคักอย่างมาก เนื่องมาจากกลิ่นฟีโรโมนที่เต่าเพศเมียปล่อยออกมา หลังจากนั้น เต่าตัวผู้จะเริ่มเข้าหาเต่าตัวเมียจากด้านหลัง เพื่อทำการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของพวกเขาเอง
ถ้าการผสมพันธุ์เป็นผลสำเร็จ ประมาณ 2 เดือน เต่าตัวเมียจะเริ่มกินอาหารน้อยลง และเริ่มเดินหาที่สร้างรังหลาย ๆ แห่ง จากนั้นก็จะเริ่มลงมือขุดหลุม และจะทำการวางไข่ในช่วงตอนกลางคืน หรือตอนเช้า โดยจะวางไข่ประมาณ 15-30 ฟอง และจะปัสสาวะรดหลุมเพื่อสร้างความชื้น จากนั้น อีก 1 เดือน เต่าตัวเมียก็จะวางไข่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ทำการสำรวจไว้ในตอนต้น โดยจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าไข่จะหมดท้อง

หลังจากที่แม่เต่าวางไข่เสร็จในแต่ละครั้ง จะต้องการน้ำมาก ช่วงนี้ ควรให้น้ำผสมกับวิตามินและแคลเซี่ยม เพื่อช่วยบำรุงร่างกายของเต่าให้กลับมาสู่ปกติอย่างรวดเร็ว
ไข่เต่าซูลคาต้า ตามธรรมชาตินั้นจะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 8 เดือน แต่เต่าในที่เลี้ยงจะใช้เวลา 5-6 เดือน หรือบางครั้ง เมื่อฟักถึง 92 วันไข่เต่าก็เริ่มเป็นตัวแล้ว ลูกเต่าก็จะเริ่มเจาะเปลือกไข่ และจะออกมาจากไข่เองในเวลา 24-72 ชั่วโมง เมื่อออกมาจากไข่แล้ว ลูกเต่ามักจะมีไข่แดงขนาดใหญ่ติดอยู่ที่ใต้ท้อง ซึ่งจะใช้มันเป็นอาหารให้พลังงานแก่ร่างกาย 3-7 วันโดยประมาณ หลังจากนั้นไข่แดงที่ว่านี้ จะเริ่มยุบลง หน้าท้องที่เคยมีไข่แดงติด ก็จะเริ่มปิดตัวลงจนหมด จากนั้น ก็จะกินอาหารเหมือนปกติทั่วไปครับ

พยายามอย่าจับเต่าโดยไม่จำเป็น ถึงเวลาอาหารก็ให้วางผักตรงที่ประจำ หรือที่ ๆ เต่าสังเกตเห็นได้ นาน ๆ ไปเต่าจะรับรู้และเมื่อเห็นเรามา เขาจะเดินออกมาหาเสมอ  เต่าเวลาถูกจับขึ้นมาเขาจะตกใจ จะอึหรือไม่ก็จะฉี่ใส่ เพราะคงคิดว่ามีแต่วิธีนี้แหละที่จะทำให้คนที่จับ รีบปล่อยเขาลง หากเต่าเลอะเทอะก็สามารถอาบน้ำให้ได้ เวลาอาบน้ำเต่า เปิดน้ำก็อกเบา ๆ จับไปขัดด้วยแปรงสีฟันที่ใต้ก็อกน้ำได้เลย อาจใช้สบู่ด้วยก็ได้ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกลัวว่าเต่าจะสำลักน้ำ แปรงให้ทั่วทั้งขาหน้าขาหลัง ไม่ต้องกลัวว่าขนแปรงจะแทงตาครับ เขาจะเรียนรู้และหลบเข้ากระดองไปเอง

 

 

 

 

การดูแลให้อาหาร

ในธรรมชาติของเขาที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า 80% ของอาหารพวกเขาคือหญ้า แต่เนื่องจากบ้านเรามีผักต่าง ๆ มากมายอุดมสมบูรณ์ เราจึงสามารถให้อาหารแบบอื่นแก่เขาเสริมเพิ่มเข้าไปได้ เช่น กระเจี๊ยบเขียว ผักบุ้ง กวางตุ้ง ใบยอ ใบหม่อน กระบองเพชรเสมา ใบบัวบก หญ้ามาเลเซีย ถั่วฝักยาว ผักหวาน แครอท ฟักทอง และผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไปเต่าซูลคาต้านั้น ตอบสนองต่อกลิ่นและสีสันของดอกไม้และผลไม้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีสันที่ฉูดฉาดสดใส เพราะฉะนั้นการปลูกต้นชบา ต้นพู่ระหงไว้ที่บ้าน แล้วเด็ดดอก และใบมันให้เขากิน ก็เป็นการกระตุ้นอาหารชั้นดี แต่ควรเสริมด้วยหญ้าป่นสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไป นำมาผสมคลุกเคล้าเข้าไปก็จะเป็นการดีมาก
เรื่องอาหารเต่า แนะนำว่าเก็บผักหรือหญ้าจากธรรมชาติให้เต่ากินจะดีกว่า ทั้งประหยัดและได้สารอาหารที่หลากหลายมากกว่า และที่สำคัญปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงอีกด้วย ผักหรือหญ้าอะไรก็ได้
ผักที่เน้นให้เต่ากินควรเป็นผักที่มีแคลเซี่ยมสูง แต่แคลเซี่ยมควรจะถูกใช้หมดไปด้วยโดยไม่สะสมเป็นก้อนนิ้วอุดตันลำไส้ หลักง่าย ๆ คือเต่าต้องได้รังสียูวีจากแสงแดด ในการดึงแคลเซี่ยมไปใช้ หรือการให้ผักที่มีโปรตีนบ้าง เพราะโปรตีนจะเข้าละลายแคลเซี่ยมส่วนที่เหลือ เต่าจะขับออกมาทางปัสสาวะเป็นสีขาวขุ่น หรือมีตะกอนสีขาวปนออกมาพร้อมกัน
เต่าก็เหมือนกับเด็ก ๆ ถ้าชอบผักอะไรแล้วจะไม่ค่อยยอมกินผักแปลก ๆใหม่ ๆ จะรอกินแต่ผักที่ตัวเองชอบ ทีนี้ผู้เลี้ยงก็เกรงว่าเขาจะอดตาย ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะใจอ่อนเอาผักของโปรดมาให้กิน จนทำให้เต่าเสียนิสัย พยายามอย่าตามใจในเรื่องการกิน เอาแบบที่เราสะดวกจะดีที่สุด เต่าไม่กินอาหารวันสองวันหรือเป็นอาทิตย์เต่าไม่ตายครับ แต่เมื่อเขาหิวเขาจะเปิดใจลองชิมดู ยังงัยก็กินได้ เพราะผักที่เราให้กินมันไม่เป็นอันตราย เพียงแค่ให้เขาได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้นเท่านั้นเอง จะได้ไม่ต้องไปเสริมวิตามินและแคลเซียมที่สังเคราะห์ขึ้นมา
ใบกระถิน เต่าจะชอบมาก แต่อย่าให้กินแบบสด ๆ เป็นอาหารหลัก ควรตากแห้งหรือผสมกับผักชนิดอื่นอย่าให้เกิน 50% ของผักอื่นในมื้อนั้น ๆ เพราะในกระถินมีสารที่เป็นพิษต่อตับ หากให้กินเดี่ยว ๆ กลัวว่านานไปเต่าจะมีปัญหาได้ ส่วนน้ำดื่มจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าเรามีผักใบเขียวหรือผักสดให้เขากิน น้ำก็แทบไม่มีความจำเป็นเลย เพราะเต่าจะได้น้ำจากผักที่กินเข้าไป รับรองว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตยังคงปัสสาวะตามปกติ แต่ถ้าเลี้ยงแบบให้อาหารแห้ง เช่น หญ้าแห้งในหน้าแล้ง อาหารเม็ด เช่น อาหารกระต่าย เต่าก็ชอบกิน ก็ควรเตรียมน้ำดื่มเอาใว้ให้ด้วย หรือถ้าไม่สบายใจ จะเตรียมจัดหาใว้ให้ก็ไม่เสียหายแต่อย่างไร
อาหารเม็ดสำหรับเต่า แนะนำเป็นยี่ห้อ Rep-Cal ที่มีวิตามินและแคลเซี่ยมครบสมบูรณ์ มีกลิ่นและสีที่เต่าชอบมาก แต่ก็ไม่ควรจะให้กินมากจนเกินไป เพราะเขาจะติดอาหารเม็ด และยังทำให้เกิดอาการกระดองปูดอันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตที่เร็วจนเกินไป การให้อาหารเม็ดจึงควรให้สองสัปดาห์ต่อมื้อก็เพียงพอแล้ว
ผักจำพวกกะหล่ำปลีเขียวและบร๊อคเคอรี่นั้น ก็ไม่ควรให้เต่ากินเป็นประจำ เพราะมันทำให้เต่าขาดฮอร์โมน Thyroid ซึ่งทำให้เต่าเกิดอาการของโรคคอหอยพอกได้ ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีรสหวาน เช่น มะละกอ แตงโม มะม่วงสุก สับปะรด สตรอเบอรี่ กล้วย ฯลฯ นี่ก็เป็นอาหารที่ไม่สมควรจะให้พวกเขากินบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงได้ ก็ให้หลีกเลี่ยงไปเลยเป็นการดีที่สุด เนื่องจากมีน้ำตาลมากและการกำจัดน้ำตาลออกจากร่างของพวกเขาก็เป็นเรื่องยาก

กระบองเพชรเสมา อาหารอีกชนิดที่มีทั้งแคลเซียมและน้ำ ช่วยให้เต่าที่ป่วยขาดน้ำ และเต่าที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายกินดีมาก ๆ
จากการที่เต่าซูลคาต้ากินพืชและผักในแต่ละวันเป็นปริมาณที่มาก ดังนั้นในแต่ละวัน ของเสียที่เกิดขึ้น ก็จะมีปริมาณที่มากตามไปด้วย การจะเลี้ยงพวกเขาก็ควรที่จะทำใจยอมรับในเรื่องนี้ให้ได้เช่นกัน เราต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เต่าขับถ่ายออกมาให้หมดสิ้นจากสถานที่เลี้ยง เพราะอาจจะทำให้ที่เลี้ยงเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค กลิ่น และยังมีโอกาศทำให้เต่าตัวอื่นมากินอุจจาระของเต่าตัวอื่น ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการติดเชื้อโรค แบคทีเรีย โปรโตซัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีการวางถาดน้ำไว้ในที่เลี้ยง เต่ามักจะคลานและถ่ายอุจจาระในน้ำเป็นประจำ ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนน้ำก็จะทำให้เต่าตัวอื่นที่มากินน้ำ มีโอกาศติดเชื้อโรคของเต่าตัวที่เป็นโรคได้ เพื่อตัดวงจรของเชื้อโรคพวกนี้ การทำความสะอาดที่เลี้ยงทุก ๆ วันจึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คนรักเต่าต้องกระทำให้เป็นนิสัย


 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานที่เลี้ยงที่เหมาะสม

การดูแลลูกเต่าบกซูลคาต้า เต่าชนิดนี้โดยธรรมชาติจะชอบอากาศร้อนและแห้ง ดังนั้นสถานที่จะให้เขาอยู่นั้น ควรเลือกบริเวณที่แห้งและอุ่นเข้าใว้ อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ไม่ควรย้ายไปย้ายมา ตั้งตรงไหนก็ตั้งตรงนั้น ถ้ามีแดดส่องถึงบางเวลาได้ยิ่งดี  ในหน้าหนาว หรือวันที่มีอากาศเย็นเต่าจะเรียนรู้และออกมาตากแดดเอง แต่ควรมีที่หลบแดดให้ ตำแหน่งและวัสดุที่จะทำที่หลบควรพิจารณาอย่างดี เช่น ไม่ควรนำกระถางแตกแล้วนำมาวางกลางแจ้งเพื่อทำที่หลบ เพราะภายในจะร้อนเหมือนเตาอบในเวลาที่มีแสงแดดจัดและส่องเต็ม ๆ 
สถานที่เลี้ยงเปียกน้ำได้ฝนตกสาดใส่ได้ แต่ต้องระบายน้ำได้เร็วไม่ควรชื้นแฉะอยู่แบบนั้นเป็นเวลาหลาย ๆ วัน ส่วนกลางคืนจะมีแสงหรือไม่มีก็ได้ แต่หากมืดสนิทก็จะใกล้เคียงธรรมชาติ ความกว้างยาวของคอกก็แล้วแต่สะดวก แต่สำหรับลูกเต่าที่ยังเล็กอยู่ไม่ควรกว้างจนเกินไปนัก ความสูงของคอกควรสูงอย่างน้อยเป็นสองเท่าของความยาวลำตัวเต่า  เพื่อป้องกันเต่าปีนหนีออกจากที่เลี้ยง
หากไม่มีบริเวณ สามารถเลี้ยงในตะกร้าหรือกระบะในขณะที่เต่ายังเล็กได้ พยายามเลือกตำแหน่งวางตะกร้าหรือกะบะเลี้ยงในที่มีแสงสว่างส่องถึง อาจไม่ถึงกับต้องโดนแดดแบบเต็ม ๆ ก็ได้ แต่ขอให้ได้ไอแดดบ้าง จะทำให้เต่าแข็งแรงและอยากอาหารมากขึ้น เพราะเต่าต้องใช้รังสียูวีในการดึงแคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไปมาสร้างกระดอง หากเต่าได้ยูวีน้อยเกินไปจะทำให้กระดองบางและไม่เป็นผลดีกับตัวเต่าเอง
การเลี้ยงในตะกร้า ก็มีข้อควรระวังหลายอย่าง เพราะต้องนำลูกเต่าออกไปตากแดด บางทีเราลืมเก็บ ลูกเต่าโดนแดดแรงเกินหรือตากแดดนานเกินไป อาจสุกตายได้ภายในหนึ่งชั่วโมงก็มี ขอสังเกตคือ ถ้าลูกเต่าน้ำตาไหลหรือมีน้ำเปียกบริเวณหน้าตา ให้รีบเก็บเข้าที่ร่มทันที เพราะนั้นคือสัญญานว่าลูกเต่าร้อนเกินไปแล้ว
สำหรับการเลี้ยงเต่าซูลคาต้าแบบ indoor (ภายในที่ปิดไม่ได้ปล่อยกลางแจ้ง) ดูจะเหมาะสมกับเต่าซูคาต้าในขนาดเล็กมากกว่าการเลี้ยงกลางแจ้ง เพราะการเลี้ยงแบบ indoor เราสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆทั้งอาหาร ความชื้นความร้อนได้ง่ายกว่า และในเต่าขนาดเล็กเมื่อเลี้ยงแบบ outdoor นั้นอาจจะทำให้เต่าสามารถติดเชื้อโรค ปรสิต โปรโตซัว ที่จะก่อให้เกิดโรคที่มีอยู่มากมายในดิน การเลี้ยงเต่าจนกว่าจะมีอายุ 1-2 ปี หรือมีขนาด 12 นิ้วขึ้นไป ในสถานที่เลี้ยง indoor จึงเป็นวิธีป้องกันและลดอัตราการตายในเต่าขนาดเล็กได้ดีที่สุด





ในธรรมชาติถิ่นกำเนิดของเต่าบกซูลคาต้านั้น อยู่ในทะเลทรายซาฮาร่า ดังนั้น อาหารหลักของพวกเขากว่า 80% จึงเป็นหญ้า นอกจากนั้น ก็เป็นวัชพืชต่าง ๆ หรือผลไม้เท่าที่เขาจะหากินได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูพวกเขา จึงควรดูแลให้เหมือนกับสภาพถิ่นกำเนิดของเขาให้มากที่สุด





                      ก่อนที่เราจะรู้จักวิธีการเลี้ยงดูเต่าซูคาต้า ผมว่าเรามารู้มันก่อนว่ามีที่ที่ไปยังไงกัน
เต่าซูคาต้า  เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป็นรองแค่เต่า Aldabra และเต่า Galapagos เต่าซูลคาต้าสามารถมีน้ำหนักตัวได้กว่า 100 กิโลกรัม และยังโตได้กว่า 36 นิ้ว หากได้รับการดูแลที่ดีจะเป็นเต่าที่มีอายุยืนมาก กระดองจะมีความสวยงาม มีสีเหลือง ไปจนถึงน้ำตาลเข้ม ขาทั้ง4ข้างจะมีความแข็งแรงมาก และมีเกล็ดแข็งปกคลุม เนื่องจากในธรรมชาติเต่าซูลคาต้าเป็นเต่าที่อยู่ในเขตแห้งแล้งแถว  Africa เป็นเต่าที่ค่อนข้างแอคทีฟ สามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว มีความแข็งแรง บึกบึนกินเก่ง กินได้ทั้งวัน  เป็นเต่าที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินและกินอาหารไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นเต่าที่โตไว และเลี้ยงให้เชื่องได้ สามารถป้อนอาหารกับมือได้ เป็นมิตรกับคน น่ารักจนใครๆหลายๆ คน ติดใจ