วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ในการเลี้ยงดูเต่าซูคาต้านั้นไม่ใช่ว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ เราต้องดูด้วยว่าสภาพอากาศนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นในสภาพอากาศหนาวก็ควรนำหลอดไฟหลอดไฟสำหรับสัตว์ Exotic Pets มาปรับสภาพอากาศให้เข้ากันซูคาต้าของเรา
           






                    หลอดไฟสำหรับเต่าซูคาต้า
สำหรับหลอดไฟที่จะกล่าวถึงนี้จะใช้สำหรับ Exotic Pets จำพวก Reptile (สัตว์เลื้อยคลาน)  เป็นส่วนใหญ่ เพราะสัตว์เลื้อยคลานเป็นสัตว์เลือดเย็น ต้องการแสงแดด ความร้อน และรังสียูวีต่างๆ ในการดำรงชีวิต โดยหลอดไฟสำหรับสัตว์เลื้อยคลาน ที่นิยมใช้จะแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ คือ  
1.หลอดไฟที่ให้ความร้อน
2.หลอดสำหรับให้รังสี UV ต่างๆ 


ซึ่งทั้งสองชนิดนั้นมีความจำเป็นสำหรับเต่าซูคาต้า ซึ่งหลอดให้ความร้อนส่วนใหญ่จะเป็นหลอดที่ให้แสงแบบมีความร้อน และใช้สำหรับให้ความอบอุ่น ช่วยย่อยอาหาร ซึ่งหลอดแบบนี้จำเป็นต้องใช้ชั้วหลอดที่ทนทาน ทนความร้อนได้ ส่วนหลอด UV ส่วนใหญ่ จะเป็นหลอดแบบฟลูโอเรสเสซ้นส์ ซึ่งไม่ค่อยมีความร้อนมากนัก โดยหลอดพวกนี้จะปล่อย UVB
ซึ่งเป็นรังสีที่เต่าซูคาต้าต้องการนำไปพัฒนา กระดอง กระดูก ต่างๆให้มีความแข็งแรง และสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้งานได้ และจะมีหลอดอีกประเภท คือ หลอดจำลองแสงอาทิตย์ เช่น SolarGlo ที่สามารถให้ทั้งความร้อนและรังสีต่างๆ ในหลอดเดียวกัน แต่ราคาก็จะสูงกว่าหลอดทั่วไป
จริงอยู่ที่ประเทศไทย มีอากาศร้อน (ถึงร้อนมาก) และมีแสงแดดจ้าตลอด เราสามารถนำมาตากแดดจริงได้ เพราะแสงแดดธรรมชาติอย่างไรแล้วก็ดีที่สุด แต่ในบางครั้งบางเวลา หลอดพวกนี้ก็มีความจำเป็นเช่นกัน อย่างเช่นพวกเต่าบกต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นเต่าที่อาศัยในภูมิประเทศแบบร้อน เมื่อถึงช่วงฤดูฝน หรือ ฤดูหนาวมักเกิดปัญหาการไม่สบายต่างๆ เช่น เป็นหวัด มีน้ำมูก กินน้อยลง ฯลฯ หลอดไฟพวกนี้จะสามารถช่วยได้ไม่มากก็น้อย เพราะจะช่วยให้ความอบอุ่น ให้รังสีต่างๆ ที่สัตว์ต้องการ
รวมถึงผู้เลี้ยงที่ไม่มีเวลานำสัตว์ไปตากแดด เลี้ยงที่คอนโด หอพัก หรือไม่สะดวกนำไปตากแดดจริง หลอดไฟเหล่านี้ก็จะช่วยทำหน้าที่เสมือนกับดวงอาทิตย์ที่สัตว์ต้องการ  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการความร้อน และรังสีที่แตกต่างกันสัตว์แต่ละประเภท ซึ่งจะนำมาแยกโดยละเอียดอีกครั้งในโอกาสต่อไป
หากสนใจหลอดจำลองแสงอาทิตย์ หรือ หลอดไฟต่างๆ สำหรับสัตว์เลื้อยคลาน หลอดสำหรับกกไฟเต่ายามที่เต่า ไม่สบาย หลอดสำหรับให้ความร้อนช่วยย่อย หรือแม้แต่หลอด UVB ต่างๆ สามารถปรึกษาและเข้ามาพูดคุย พร้อมคำแนะนำสำหรับสัตว์ต่างๆ ได้ที่

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

 

เพศของเต่าซูลคาต้า

เราจะไม่สามารถแยกเพศของเต่าซูลคาต้าที่มีขนาดเล็กได้เลย จากรูปร่างลักษณะภายนอก แต่ในเต่าที่มีขนาด 12-14 นิ้วขึ้นไป ก็สามารถที่จะแยกเพศได้โดยไม่ยากนัก วิธีการง่าย ๆ คือ ยกเต่าดูที่ใต้ท้องเต่าตัวผู้แผ่นปิดท้องจะมีลักษณะเว้าลึกเข้าไปในช่องท้อง (​B เว้ามากกว่า A) เพื่อประโยชน์ในการขึ้นขี่ผสมพันธุ์กับเต่าเพศเมีย ส่วนนี้ของเต่าเพศเมียจะแบนราบปกติ ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งของเต่าเพศผู้และเพศเมียคือ เต่าตัวผู้จะมีหางที่ยาวกว่า (D ยาวกว่า C) เต่าเพศเมียนั่นเอง

การผสมพันธุ์และเพาะพันธุ์เต่าซูลคาต้า

เต่าซูลคาต้านั้น จะเริ่มถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อเขามีอายุได้ 4 ปี และมีขนาดประมาณ 14 นิ้วขึ้นไป เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ช่วงประมาณปลายฝนต้นหนาว พ่อพันธุ์เต่าซูลคาต้าจะเริ่มส่งเสียงคำรามต่ำ ๆ ออกมา ช่วงนี้เต่าเพศเมียมักจะนอนนิ่ง ๆ ที่ใดที่หนึ่ง ส่วนเต่าตัวผู้นั้นจะแสดงอาการคึกคักอย่างมาก เนื่องมาจากกลิ่นฟีโรโมนที่เต่าเพศเมียปล่อยออกมา หลังจากนั้น เต่าตัวผู้จะเริ่มเข้าหาเต่าตัวเมียจากด้านหลัง เพื่อทำการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของพวกเขาเอง
ถ้าการผสมพันธุ์เป็นผลสำเร็จ ประมาณ 2 เดือน เต่าตัวเมียจะเริ่มกินอาหารน้อยลง และเริ่มเดินหาที่สร้างรังหลาย ๆ แห่ง จากนั้นก็จะเริ่มลงมือขุดหลุม และจะทำการวางไข่ในช่วงตอนกลางคืน หรือตอนเช้า โดยจะวางไข่ประมาณ 15-30 ฟอง และจะปัสสาวะรดหลุมเพื่อสร้างความชื้น จากนั้น อีก 1 เดือน เต่าตัวเมียก็จะวางไข่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ทำการสำรวจไว้ในตอนต้น โดยจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าไข่จะหมดท้อง

หลังจากที่แม่เต่าวางไข่เสร็จในแต่ละครั้ง จะต้องการน้ำมาก ช่วงนี้ ควรให้น้ำผสมกับวิตามินและแคลเซี่ยม เพื่อช่วยบำรุงร่างกายของเต่าให้กลับมาสู่ปกติอย่างรวดเร็ว
ไข่เต่าซูลคาต้า ตามธรรมชาตินั้นจะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 8 เดือน แต่เต่าในที่เลี้ยงจะใช้เวลา 5-6 เดือน หรือบางครั้ง เมื่อฟักถึง 92 วันไข่เต่าก็เริ่มเป็นตัวแล้ว ลูกเต่าก็จะเริ่มเจาะเปลือกไข่ และจะออกมาจากไข่เองในเวลา 24-72 ชั่วโมง เมื่อออกมาจากไข่แล้ว ลูกเต่ามักจะมีไข่แดงขนาดใหญ่ติดอยู่ที่ใต้ท้อง ซึ่งจะใช้มันเป็นอาหารให้พลังงานแก่ร่างกาย 3-7 วันโดยประมาณ หลังจากนั้นไข่แดงที่ว่านี้ จะเริ่มยุบลง หน้าท้องที่เคยมีไข่แดงติด ก็จะเริ่มปิดตัวลงจนหมด จากนั้น ก็จะกินอาหารเหมือนปกติทั่วไปครับ

พยายามอย่าจับเต่าโดยไม่จำเป็น ถึงเวลาอาหารก็ให้วางผักตรงที่ประจำ หรือที่ ๆ เต่าสังเกตเห็นได้ นาน ๆ ไปเต่าจะรับรู้และเมื่อเห็นเรามา เขาจะเดินออกมาหาเสมอ  เต่าเวลาถูกจับขึ้นมาเขาจะตกใจ จะอึหรือไม่ก็จะฉี่ใส่ เพราะคงคิดว่ามีแต่วิธีนี้แหละที่จะทำให้คนที่จับ รีบปล่อยเขาลง หากเต่าเลอะเทอะก็สามารถอาบน้ำให้ได้ เวลาอาบน้ำเต่า เปิดน้ำก็อกเบา ๆ จับไปขัดด้วยแปรงสีฟันที่ใต้ก็อกน้ำได้เลย อาจใช้สบู่ด้วยก็ได้ไม่มีปัญหา ไม่ต้องกลัวว่าเต่าจะสำลักน้ำ แปรงให้ทั่วทั้งขาหน้าขาหลัง ไม่ต้องกลัวว่าขนแปรงจะแทงตาครับ เขาจะเรียนรู้และหลบเข้ากระดองไปเอง

 

 

 

 

การดูแลให้อาหาร

ในธรรมชาติของเขาที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า 80% ของอาหารพวกเขาคือหญ้า แต่เนื่องจากบ้านเรามีผักต่าง ๆ มากมายอุดมสมบูรณ์ เราจึงสามารถให้อาหารแบบอื่นแก่เขาเสริมเพิ่มเข้าไปได้ เช่น กระเจี๊ยบเขียว ผักบุ้ง กวางตุ้ง ใบยอ ใบหม่อน กระบองเพชรเสมา ใบบัวบก หญ้ามาเลเซีย ถั่วฝักยาว ผักหวาน แครอท ฟักทอง และผักพื้นบ้านทั่ว ๆ ไปเต่าซูลคาต้านั้น ตอบสนองต่อกลิ่นและสีสันของดอกไม้และผลไม้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีสันที่ฉูดฉาดสดใส เพราะฉะนั้นการปลูกต้นชบา ต้นพู่ระหงไว้ที่บ้าน แล้วเด็ดดอก และใบมันให้เขากิน ก็เป็นการกระตุ้นอาหารชั้นดี แต่ควรเสริมด้วยหญ้าป่นสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไป นำมาผสมคลุกเคล้าเข้าไปก็จะเป็นการดีมาก
เรื่องอาหารเต่า แนะนำว่าเก็บผักหรือหญ้าจากธรรมชาติให้เต่ากินจะดีกว่า ทั้งประหยัดและได้สารอาหารที่หลากหลายมากกว่า และที่สำคัญปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงอีกด้วย ผักหรือหญ้าอะไรก็ได้
ผักที่เน้นให้เต่ากินควรเป็นผักที่มีแคลเซี่ยมสูง แต่แคลเซี่ยมควรจะถูกใช้หมดไปด้วยโดยไม่สะสมเป็นก้อนนิ้วอุดตันลำไส้ หลักง่าย ๆ คือเต่าต้องได้รังสียูวีจากแสงแดด ในการดึงแคลเซี่ยมไปใช้ หรือการให้ผักที่มีโปรตีนบ้าง เพราะโปรตีนจะเข้าละลายแคลเซี่ยมส่วนที่เหลือ เต่าจะขับออกมาทางปัสสาวะเป็นสีขาวขุ่น หรือมีตะกอนสีขาวปนออกมาพร้อมกัน
เต่าก็เหมือนกับเด็ก ๆ ถ้าชอบผักอะไรแล้วจะไม่ค่อยยอมกินผักแปลก ๆใหม่ ๆ จะรอกินแต่ผักที่ตัวเองชอบ ทีนี้ผู้เลี้ยงก็เกรงว่าเขาจะอดตาย ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะใจอ่อนเอาผักของโปรดมาให้กิน จนทำให้เต่าเสียนิสัย พยายามอย่าตามใจในเรื่องการกิน เอาแบบที่เราสะดวกจะดีที่สุด เต่าไม่กินอาหารวันสองวันหรือเป็นอาทิตย์เต่าไม่ตายครับ แต่เมื่อเขาหิวเขาจะเปิดใจลองชิมดู ยังงัยก็กินได้ เพราะผักที่เราให้กินมันไม่เป็นอันตราย เพียงแค่ให้เขาได้รับสารอาหารที่หลากหลายขึ้นเท่านั้นเอง จะได้ไม่ต้องไปเสริมวิตามินและแคลเซียมที่สังเคราะห์ขึ้นมา
ใบกระถิน เต่าจะชอบมาก แต่อย่าให้กินแบบสด ๆ เป็นอาหารหลัก ควรตากแห้งหรือผสมกับผักชนิดอื่นอย่าให้เกิน 50% ของผักอื่นในมื้อนั้น ๆ เพราะในกระถินมีสารที่เป็นพิษต่อตับ หากให้กินเดี่ยว ๆ กลัวว่านานไปเต่าจะมีปัญหาได้ ส่วนน้ำดื่มจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าเรามีผักใบเขียวหรือผักสดให้เขากิน น้ำก็แทบไม่มีความจำเป็นเลย เพราะเต่าจะได้น้ำจากผักที่กินเข้าไป รับรองว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตยังคงปัสสาวะตามปกติ แต่ถ้าเลี้ยงแบบให้อาหารแห้ง เช่น หญ้าแห้งในหน้าแล้ง อาหารเม็ด เช่น อาหารกระต่าย เต่าก็ชอบกิน ก็ควรเตรียมน้ำดื่มเอาใว้ให้ด้วย หรือถ้าไม่สบายใจ จะเตรียมจัดหาใว้ให้ก็ไม่เสียหายแต่อย่างไร
อาหารเม็ดสำหรับเต่า แนะนำเป็นยี่ห้อ Rep-Cal ที่มีวิตามินและแคลเซี่ยมครบสมบูรณ์ มีกลิ่นและสีที่เต่าชอบมาก แต่ก็ไม่ควรจะให้กินมากจนเกินไป เพราะเขาจะติดอาหารเม็ด และยังทำให้เกิดอาการกระดองปูดอันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตที่เร็วจนเกินไป การให้อาหารเม็ดจึงควรให้สองสัปดาห์ต่อมื้อก็เพียงพอแล้ว
ผักจำพวกกะหล่ำปลีเขียวและบร๊อคเคอรี่นั้น ก็ไม่ควรให้เต่ากินเป็นประจำ เพราะมันทำให้เต่าขาดฮอร์โมน Thyroid ซึ่งทำให้เต่าเกิดอาการของโรคคอหอยพอกได้ ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มีรสหวาน เช่น มะละกอ แตงโม มะม่วงสุก สับปะรด สตรอเบอรี่ กล้วย ฯลฯ นี่ก็เป็นอาหารที่ไม่สมควรจะให้พวกเขากินบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงได้ ก็ให้หลีกเลี่ยงไปเลยเป็นการดีที่สุด เนื่องจากมีน้ำตาลมากและการกำจัดน้ำตาลออกจากร่างของพวกเขาก็เป็นเรื่องยาก

กระบองเพชรเสมา อาหารอีกชนิดที่มีทั้งแคลเซียมและน้ำ ช่วยให้เต่าที่ป่วยขาดน้ำ และเต่าที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายกินดีมาก ๆ
จากการที่เต่าซูลคาต้ากินพืชและผักในแต่ละวันเป็นปริมาณที่มาก ดังนั้นในแต่ละวัน ของเสียที่เกิดขึ้น ก็จะมีปริมาณที่มากตามไปด้วย การจะเลี้ยงพวกเขาก็ควรที่จะทำใจยอมรับในเรื่องนี้ให้ได้เช่นกัน เราต้องกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เต่าขับถ่ายออกมาให้หมดสิ้นจากสถานที่เลี้ยง เพราะอาจจะทำให้ที่เลี้ยงเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค กลิ่น และยังมีโอกาศทำให้เต่าตัวอื่นมากินอุจจาระของเต่าตัวอื่น ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการติดเชื้อโรค แบคทีเรีย โปรโตซัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรามีการวางถาดน้ำไว้ในที่เลี้ยง เต่ามักจะคลานและถ่ายอุจจาระในน้ำเป็นประจำ ถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนน้ำก็จะทำให้เต่าตัวอื่นที่มากินน้ำ มีโอกาศติดเชื้อโรคของเต่าตัวที่เป็นโรคได้ เพื่อตัดวงจรของเชื้อโรคพวกนี้ การทำความสะอาดที่เลี้ยงทุก ๆ วันจึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่คนรักเต่าต้องกระทำให้เป็นนิสัย


 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถานที่เลี้ยงที่เหมาะสม

การดูแลลูกเต่าบกซูลคาต้า เต่าชนิดนี้โดยธรรมชาติจะชอบอากาศร้อนและแห้ง ดังนั้นสถานที่จะให้เขาอยู่นั้น ควรเลือกบริเวณที่แห้งและอุ่นเข้าใว้ อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส ไม่ควรย้ายไปย้ายมา ตั้งตรงไหนก็ตั้งตรงนั้น ถ้ามีแดดส่องถึงบางเวลาได้ยิ่งดี  ในหน้าหนาว หรือวันที่มีอากาศเย็นเต่าจะเรียนรู้และออกมาตากแดดเอง แต่ควรมีที่หลบแดดให้ ตำแหน่งและวัสดุที่จะทำที่หลบควรพิจารณาอย่างดี เช่น ไม่ควรนำกระถางแตกแล้วนำมาวางกลางแจ้งเพื่อทำที่หลบ เพราะภายในจะร้อนเหมือนเตาอบในเวลาที่มีแสงแดดจัดและส่องเต็ม ๆ 
สถานที่เลี้ยงเปียกน้ำได้ฝนตกสาดใส่ได้ แต่ต้องระบายน้ำได้เร็วไม่ควรชื้นแฉะอยู่แบบนั้นเป็นเวลาหลาย ๆ วัน ส่วนกลางคืนจะมีแสงหรือไม่มีก็ได้ แต่หากมืดสนิทก็จะใกล้เคียงธรรมชาติ ความกว้างยาวของคอกก็แล้วแต่สะดวก แต่สำหรับลูกเต่าที่ยังเล็กอยู่ไม่ควรกว้างจนเกินไปนัก ความสูงของคอกควรสูงอย่างน้อยเป็นสองเท่าของความยาวลำตัวเต่า  เพื่อป้องกันเต่าปีนหนีออกจากที่เลี้ยง
หากไม่มีบริเวณ สามารถเลี้ยงในตะกร้าหรือกระบะในขณะที่เต่ายังเล็กได้ พยายามเลือกตำแหน่งวางตะกร้าหรือกะบะเลี้ยงในที่มีแสงสว่างส่องถึง อาจไม่ถึงกับต้องโดนแดดแบบเต็ม ๆ ก็ได้ แต่ขอให้ได้ไอแดดบ้าง จะทำให้เต่าแข็งแรงและอยากอาหารมากขึ้น เพราะเต่าต้องใช้รังสียูวีในการดึงแคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไปมาสร้างกระดอง หากเต่าได้ยูวีน้อยเกินไปจะทำให้กระดองบางและไม่เป็นผลดีกับตัวเต่าเอง
การเลี้ยงในตะกร้า ก็มีข้อควรระวังหลายอย่าง เพราะต้องนำลูกเต่าออกไปตากแดด บางทีเราลืมเก็บ ลูกเต่าโดนแดดแรงเกินหรือตากแดดนานเกินไป อาจสุกตายได้ภายในหนึ่งชั่วโมงก็มี ขอสังเกตคือ ถ้าลูกเต่าน้ำตาไหลหรือมีน้ำเปียกบริเวณหน้าตา ให้รีบเก็บเข้าที่ร่มทันที เพราะนั้นคือสัญญานว่าลูกเต่าร้อนเกินไปแล้ว
สำหรับการเลี้ยงเต่าซูลคาต้าแบบ indoor (ภายในที่ปิดไม่ได้ปล่อยกลางแจ้ง) ดูจะเหมาะสมกับเต่าซูคาต้าในขนาดเล็กมากกว่าการเลี้ยงกลางแจ้ง เพราะการเลี้ยงแบบ indoor เราสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆทั้งอาหาร ความชื้นความร้อนได้ง่ายกว่า และในเต่าขนาดเล็กเมื่อเลี้ยงแบบ outdoor นั้นอาจจะทำให้เต่าสามารถติดเชื้อโรค ปรสิต โปรโตซัว ที่จะก่อให้เกิดโรคที่มีอยู่มากมายในดิน การเลี้ยงเต่าจนกว่าจะมีอายุ 1-2 ปี หรือมีขนาด 12 นิ้วขึ้นไป ในสถานที่เลี้ยง indoor จึงเป็นวิธีป้องกันและลดอัตราการตายในเต่าขนาดเล็กได้ดีที่สุด





ในธรรมชาติถิ่นกำเนิดของเต่าบกซูลคาต้านั้น อยู่ในทะเลทรายซาฮาร่า ดังนั้น อาหารหลักของพวกเขากว่า 80% จึงเป็นหญ้า นอกจากนั้น ก็เป็นวัชพืชต่าง ๆ หรือผลไม้เท่าที่เขาจะหากินได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูพวกเขา จึงควรดูแลให้เหมือนกับสภาพถิ่นกำเนิดของเขาให้มากที่สุด





                      ก่อนที่เราจะรู้จักวิธีการเลี้ยงดูเต่าซูคาต้า ผมว่าเรามารู้มันก่อนว่ามีที่ที่ไปยังไงกัน
เต่าซูคาต้า  เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป็นรองแค่เต่า Aldabra และเต่า Galapagos เต่าซูลคาต้าสามารถมีน้ำหนักตัวได้กว่า 100 กิโลกรัม และยังโตได้กว่า 36 นิ้ว หากได้รับการดูแลที่ดีจะเป็นเต่าที่มีอายุยืนมาก กระดองจะมีความสวยงาม มีสีเหลือง ไปจนถึงน้ำตาลเข้ม ขาทั้ง4ข้างจะมีความแข็งแรงมาก และมีเกล็ดแข็งปกคลุม เนื่องจากในธรรมชาติเต่าซูลคาต้าเป็นเต่าที่อยู่ในเขตแห้งแล้งแถว  Africa เป็นเต่าที่ค่อนข้างแอคทีฟ สามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว มีความแข็งแรง บึกบึนกินเก่ง กินได้ทั้งวัน  เป็นเต่าที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินและกินอาหารไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นเต่าที่โตไว และเลี้ยงให้เชื่องได้ สามารถป้อนอาหารกับมือได้ เป็นมิตรกับคน น่ารักจนใครๆหลายๆ คน ติดใจ